2.2.7 ประเภทของเครือข่าย (Categories
of Networks)
ในปัจจุบันเมื่อมีการกล่าวถึงคำว่าเครือข่าย
โดยทั่วไปจะอ้างอิงถึงเครือข่ายหลักๆ อยู่ 2 ประเภทด้วยกัน คือ
เครือข่ายท้องถิ่นและเครือข่ายระดับประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างกันในด้านของขนาด
โดยเครือข่ายท้องถิ่นจะครอบคลุมพื้นที่บนระยะทางไม่เกิน 2-3 กิโลเมตร
ในขณะที่เครือข่ายระดับประเทศสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้ทั่วโลก
และนอกจากนี้ยังมีเครือข่ายอีกประเภทหนึ่งที่มีขนาดอยู่ระหว่างเครือข่ายทั้งสอง
นั่นก็คือเครือข่ายระดับเมือง
เครือข่ายท้องถิ่น (Local Area Network : LAN)
เครือข่ายท้องถิ่นเป็นเครือข่ายส่วนบุคคลที่มีการลิงก์เชื่อมโยงระหว่างพีซีคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เพื่อการใช้งานร่วมกัน
โดยอาจเชื่อมโยงภายในสำนักงาน หรือตึกอาคารที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน
ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละองค์กรและเทคโนโลยีที่ใช้
เครือข่ายท้องถิ่นอาจมีเพียงพีซีคอมพิวเตอร์เพียง 2
เครื่องและมีเครื่องพิมพ์เชื่อมต่อเพื่อใช้งานในออฟฟิศ ตามบ้านเรือน
หรือเชื่อมโยงพีซีคอมพิวเตอร์เป็นร้อยเครื่องสำหรับองค์กรขนาดใหญ่
โดยจะครอบคลุมระยะทางไม่กี่กิโลเมตร
เครือข่ายท้องถิ่นหรือมักเรียกสั้นๆ
ว่า เครือข่ายแลน นั้น ได้รับการออกแบบมาเพื่ออนุญาตให้สามารถแชร์ทรัพยากรบนเครือข่ายร่วมกันได้
เช่น การแชร์ข้อมูล โปรแกรม และเครื่องพิมพ์ เป็นต้น
โดยอุปกรณ์บางชนิดอาจมีราคาแพง เช่น เครื่องพิมพ์เลเซอร์สี
ก็สามารถซื้อมาใช้เพียงเครื่องเดียว
และให้ผู้ใช้แชร์บริการงานพิมพ์ร่วมกันบนเครือข่ายได้ ซึ่งถือเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยงานได้เป็นอย่างดี
จึงไม่แปลกเลยว่าที่ปัจจุบัน เครือข่ายแลนสามารถพบเห็นได้ตามองค์กร ภาคธุรกิจทั่วไป
นอกจากขนาดเครือข่ายที่ใช้เป็นตัวกำหนดประเภทเครือข่ายแลนแล้ว
ในด้านของสื่อที่ใช้ในการส่งผ่านข้อมูลและรูปแบบการเชื่อมต่อเครือข่าย (Topology) ก็สามารถนำไปประกอบการพิจารณาว่าเป็นเครือข่ายแลนหรือไม่
ซึ่งโดยปกติเครือข่ายแลนจะเชื่อมต่อในรูปแบบ Bus, Rint และ Starเครือข่ายแลนในยุคแรกมีอัตราความเร็วในการส่งข้อมูลเพียง 4-6
เมกะบิตต่อวินาที (Mbps) แต่ปัจจุบันได้มีความเร็วสูงถึง 100 Mbps
หรือ 1000 Mbps นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายแลนไร้สาย
ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับการตอบรับการใช้งานอย่างกว้างขวาง
เนื่องจากเพิ่มความสะดวก
และได้พัฒนาความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลแบบไร้สายในอัตราที่เร็วขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม
การเชื่อมโยงเครือข่ายแลนให้ครอบคลุมระยะทางที่ไกลขึ้น
จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทวนสัญญาณ (Repeater) เพื่อยืดระยะทางการสื่อสารให้ไกลออกไปได้อีก
โดยเครือข่ายแลนที่เชื่อมโยงระยะไกลมักใช้สื่อส่งข้อมูลชนิดไฟเบอร์อปติก
เพื่อใช้เป็นสายแกนหลัก (Backbone)
เนื่องจากเป็นสายที่เหมาะกับการรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูง
และสามารถเชื่อมต่อระยะไกลได้เป็นกิโลเมตรโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ทวนสัญญาณ
รูปที่ 2.18 ตัวอย่างเครือข่ายท้องถิ่น
เครือข่ายระดับประเทศ (Wide Area Network : WAN)
เครือข่ายระดับประเทศหรือเครือข่ายแวนสามารถส่งผ่านข้อมูลได้ระยะไกล
ข้อมูลที่ส่งผ่านสามารถเป็นได้ทั้งข้อมูลทั่วไป รูปภาพ ออดิโอ
และวีดีโอที่สามารถสื่อสารข้ามประเทศหรือข้ามทวีปได้ดังรูปที่ 2.19
เครือข่ายแวนอาจมีสายแกนหลักจำนวนมากกว่าหนึ่งเส้นที่นำไปใช้เชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ต
และเครือข่ายแวนยังสามารถเป็นได้ทั้งแบบ Switched-WAN และ Point-to-Point
WAN ซึ่งแสดงไว้ดังรูปที่ 2.19
Switched-WAN
เป็นระบบแวนที่เชื่อมต่อกับระบบปลายทาง
ซึ่งโดยปกติมักหมายถึงอุปกรณ์เร้าเตอร์ (Router)
ที่นำไปใช้สำหรับเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
ให้สามารถเชื่อมโยงไปยังเครือข่ายอื่นๆ อย่างเครือข่ายแลนหรือเครือข่ายแวน เป็นต้น
ตัวอย่าง Switched-WAN ในยุคแรก เช่น X.25 ซึ่งต่อมาก็ถูกทดแทนเทคโนโลยี
Frame Relay นอกจากนี้ก็ยังมีระบบ ATM (Asynchronous
Transfer Mode) รวมถึง Wireless-WAN ที่จัดเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการกล่าวขานมาก
Point-to-Point WAN
เป็นระบบแวนที่ใช้สายสื่อสารจากระบบโทรศัพท์
หรือเคเบิลทีวีที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ตามบ้านหรือเครือข่ายแลนขนาดเล็กเพื่อไปยังบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต
(Internet Service Provider : ISP) ซึ่งแวนชนิดนี้บ่อยครั้งที่นำมาใช้เพื่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
นอกจากขนาดของเครือข่ายที่สามารถเชื่อมโยงได้ไกลข้ามประเทศอย่างเครือข่ายแวนแล้วสื่อส่งข้อมูลที่ใช้ในเครือข่ายแวนก็มีหลายชนิด
ไม่ว่าจะเป็นสายโทรศัพท์ สายเคเบิล รวมถึงการสื่อสารผ่านดาวเทียม เป็นต้น
รูปที่ 2.19 ตัวอย่างเครือข่ายระดับประเทศ
เครือข่าย (Metropolitan Area Network : MAN)
เครือข่ายระดับเมืองหรือเครือข่ายแมนเป็นเครือข่ายที่มีขนาดระหว่างเครือข่ายแลนและเครือข่ายแวนซึ่งปกติจะครอบคลุมพื้นที่ภายในเมืองหรือจังหวัด
โดยเป็นเครือข่ายที่ออกแบบมาเพื่อให้ลูกค้าสามารถเชื่อมต่อใช้งานเพื่อการสื่อสารความเร็วสูง
ตัวอย่างเครือข่ายแมน เช่น บริษัทที่มีการเชื่อมต่อเครือข่ายของสาขาต่างๆ
ที่อยู่ในเขตเมืองหรือจังหวัดเดียวกัน และการบริการเคเบิลทีวี เป็นต้น
โดยเครือข่ายแมนที่ดีจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทที่ให้บริการโทรศัพท์ที่สามารถจัดหาระบบ
DSL
ความเร็วสูงให้แก่ลูกค้าได้
รูปที่ 2.20 ตัวอย่างเครือข่ายระดับเมือง
การเชื่อมต่อระหว่างเครือข่าย (Interconnection of Networks)
ในปัจจุบันนี้
คงไม่ค่อยพบเครือข่ายแลน แมน หรือแวนที่ติดตั้งเพื่อใช้งานแยกออกไปอย่างโดดเดี่ยวแต่จะพบว่าเครือข่ายเหล่านี้มักมีการเชื่อมต่อไปยังเครือข่ายอื่นๆ
ดังนั้นเมื่อมีการนำเครือข่ายที่แตกต่างกันสองเครือข่ายขึ้นไปมาเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน
จึงเป็นที่มาของคำว่า “Internet”
ตัวอย่างเช่น
มีบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งมีสำนักงานอยู่ 2 สาขา สาขาแรกตั้งอยู่ฝั่งตะวันตก ส่วนสาขาที่สองตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของประเทศ
โดยสำนักงานสาขาแรกมีการวางระบบเครือข่ายแลนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการเชื่อมต่อแบบบัส
(Bus Topology)
ต่อมาผู้อำนวยการบริษัทมีความต้องการเชื่อมต่อเครือข่ายทั้งสอง
เพื่อควบคุมการทำงานจากที่บ้านได้ ดังนั้นการสร้างแบ็กโบนบนเครือข่ายแวน จึงเกิด 3
เอ็นทิตี้สำคัญเพื่อการเชื่อมต่อในครั้งนี้ (ประกอบด้วยแลน 2
วงและคอมพิวเตอร์ของผู้อำนวยการ) สำหรับ Switched WAN คือสายเช่าชนิด
Leased Line (บริการโดย ISP หรือองค์การโทรศัพท์)
และมีการเชื่อมต่อเครือข่ายแลนไปยัง Switched WAN จึงได้เกิดจุดเชื่อมต่อแบบ
Point-to-Point WAN อยู่ 3 จุดด้วยกันซึ่ง Point-to-Point
WAN นั้นสามารถเป็นระบบ DSL ความเร็วสูงที่บริการโดยองค์การโทรศัพท์
หรืออาจเป็นบริการของเคเบิลทีวี ซึ่งเป็นไปดังรูปที่ 2.21
รูปที่ 2.21 การเชื่อมต่อระหว่างเครือข่าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น